1. โครงการตามพระราชดำริ การปลูกข้าว
น่าปลาบปลื้มอย่างยิ่ง ทรงขับรถไถนาเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าวทรงหว่านข้าว รวมถึงทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เองครั้งหนึ่งมีผู้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสวยอะไร พระองค์ท่านรับสั่งคำเดียวสั้นๆ ว่า ‘ข้าว’
เมื่อปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพิธีราชมงคลจรดพระนางคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ ซึ่งสะท้อนให้ถึงความใส่พระทัยในเกษตรกรผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2504 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งในพระราชวังจิตรลดาจัดทำเป็นนาข้าวทดลองขึ้น โดยมีกรมการข้าว (ปัจจุบันคือกรมวิชาการเกษตร) เป็นผู้รับผิดชอบแปลงนาดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร และสิ่งที่น่าปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งก็คือ ทรงขับรถไถนาเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าวทรงหว่านข้าว รวมถึงทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง ข้าวที่ได้จากแปลงนาทดลองดังกล่าวทรงเป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน สำหรับแจกจ่ายให้กับชาวนาในพระราชพิธีพืชมงคลปีต่อๆ ไปด้วยตลอดระยะเวลา 60 ปีของการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่นต่างก็มีปัญหาแตกต่างกัน เช่น ภาคอีสานมีปัญหาฝนแร้งและดินเค็ม บางจังหวัดในภาคใต้มีปัญหาดินเปรี้ยว ทำให้ได้ผลผลิตต่อไรต่ำ จึงทรงโปรดฯ ให้ค้นคว้าพัฒนาพันธุ์ข้าวตลอดจนวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพท้องถิ่นขึ้นโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาในเรื่องข้าว อันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นอกจากการพัฒนาค้นคว้าพันธุ์ข้าวแล้ว ยังทรงคำนึงถึงการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร นำไปสู่การพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาดิน โครงการธนาคารข้าว ธนาคารโค-กระบือ ฯลฯ ความสำเร็จของแต่ละโครงการคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทย เช่น ครั้งหนึ่งทรงเสด็จพระราชดำเนินยังพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีปัญหาเรื่องดินเปรี้ยว ชาวนาปลูกข้าวได้เพียง 10-14 ถังต่อปี จึงทรงพระราชทานแนวทางในการแก้ไขโดยให้นำจืดมาล้างดินเปรี้ยว ปีต่อๆ มาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรอีกครั้ง ชาวบ้านที่รอเฝ้าฯ กราบบังทูลว่าตอนนี้ผลิตข้าวได้ปีละ 50-60 ถังต่อไรด้วยความสำเร็จในการพัฒนาด้านการเกษตร สถาบันระดับโลกต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเพื่อสดุดีพระเกียรติ ดังต่อไปนี้
วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2538 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agricultural Organization) ‘FAO’ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญแอกริโคลา (Agricola) คำว่า ‘แอกริโคลา’ เป็นศัพท์ภาษาละติน หมายถึง ‘เกษตรกร’ เหรียญนี้เป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทยตลอดมา วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2538 สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (The International Rice Research Institute) ‘IRRI’ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยข้าวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยที่สถาบันแห่งนี้ยังไม่เคยมอบเหรียญให้พระมหากษัตริย์หรือประมุขประเทศใดมาก่อน
2.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดขอนแก่น
เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ ณ จังหวัดขอนแก่น สรุปความว่า ลำน้ำชีในฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นห้วย หนอง บึงและพื้นที่สาธารณะมาก เมื่อถึงเวลาน้ำลด น้ำที่ท่วมพื้นที่ดังกล่าวก็ลดตามไปด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตามเดิม ให้พิจารณาหาวิธีเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ณ จังหวัดขอนแก่น ให้สำรวจพื้นที่อ่างรอบๆจังหวัดขอนแก่น เพื่อพิจารณาขุดลอก อ่างเก็บน้ำเสริมคันดินกั้นน้ำให้สูง เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนได้มากซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรังได้ รวมทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในฤดูที่มีฝนตกหนัก นอกจากนั้นสามารถจะนำน้ำมาใช้ในโครงการเกษตรน้ำฝนตามแนวทฤษฎีใหม่ได้
สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทานและกองทัพภาคที่ ๒ ได้สำรวจสภาพพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณสองฝั่งลำน้ำชีในเขตจังหวัดขอนแก่น จำนวน ๓๔ แห่ง ลักษณะการดำเนินงานเป็นการขุดลอก หนองน้ำเดิมและก่อสร้างอาคารรับน้ำเข้าหนอง และการยกระดับน้ำโดยการสร้างฝายเพื่อทดน้ำให้สูงขึ้นเป็นการเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำให้มากขึ้น ทั้งนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ๒๙ แห่ง สามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลำชีได้ทั้งสิ้น ๔๑,๓๕๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมด ๒๘,๒๗๓ ไร่ นอกจากนี้ กรมชลประทานมีแผนงานที่จะดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำอีก ๕ แห่ง ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณการ เก็บกักน้ำได้ ๑,๗๔๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน ๓,๐๕๙ ไร่
ตัวอย่างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี
ราษฎรสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง
(หนองเบ็น ตำบลหนองแปน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น)
ในการดำเนินงานตามโครงการก่อให้เกิดประโยชน์ ๒ ประการ คือ
๑. เป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในฤดูฝน
๒. เก็บกักน้ำในฤดูฝนสำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนนำมาใช้ประโยชน์ ในด้านการเกษตรและการอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง
ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. ได้ประสานจังหวัดขอนแก่นและกรมวิชาการเกษตรส่งเสริมสนับสนุนการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร เพื่อให้การสนองพระราชดำริในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อราษฎรอย่างต่อเนื่อง คือ สามารถเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร รายได้และทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงโดยส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักใช้วัสดุในท้องถิ่น ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยคอก และการปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ปลอดภัยและเกื้อกูลสิ่งแวดล้อม
3. โครงการตามพระราชดำริ ด้านการส่งเสริมอาชีพ
สำหรับการส่งเสริมอาชีพนั้น หากเป็นโดยทางอ้อมแล้วโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ เมื่อได้ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วจะทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้งหลายนั้น จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะให้มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง
ส่วนโครงการประเภทการส่งเสริมอาชีพโดยตรงนั้นมีจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ ดังเช่น โครงการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โครงการศิลปาชีพพิเศษทั่วประเทศ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการอื่นๆ อีกมาก ซึ่งโครงการเหล่านี้ผลสุดท้ายของโครงการคือประชาชนที่อยู่ในเป้าหมายโครงการสามารถที่จะนำความรู้ไปประกอบอาชีพจนทำให้เกิดรายได้กับครอบครัว อาท
ศิลปาชีพพิเศษ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะประจำชาติยิ่งนัก จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปะให้คงอยู่ โดยทรงให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ เพื่อช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ที่มีรายได้น้อยเพราะต้องเผชิญอุปสรรคในการเพาะปลูกอันเนื่องมาจากสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่แปรปรวนอยู่เสมอทำให้รายได้จากผลผลิตมีไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว
ในขณะเดียวกัน ศิลปะหัตถกรรมของไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาลกำลังเสื่อมสูญไปเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน
โครงการศิลปาชีพได้จัดตั้งขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีมากกว่า ๑๕๐ แห่ง เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ดังเมื่อครั้งอดีต พระองค์ทรงเน้นการนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ทางหัตถกรรมเป็นหลัก และจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศ ทรงคัดเลือกสมาชิกศิลปาชีพจากครอบครัวราษฎรที่ยากจน ไร้ที่ทำกินและมีบุตรมากจากทั่วทุกภาคของไทยเข้ามารับการฝึกศิลปหัตถกรรมในศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ เช่น ที่โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา อันเป็นโรงฝึกศิลปาชีพที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการสอนงานด้านศิลปะในแขนงต่างๆ เช่น เครื่องถม เครื่องเงิน แผนกทอผ้า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้นำในการใช้ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผ้าไหม เครื่องจักรสาน ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากชุดฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่ในโอกาสต่างๆ อีกด้วย