วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาไทย



ภูมิปัญญาด้านวิถีชีวิตการเป็นอยู่ การเลี้ยงช้าง
จังหวัดสุโขทัยมีการเลี้ยงช้างกันมากที่ตำบลบ้านตึก การเลี้ยงช้างเป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันระหว่างคนกับช้างและต้องใช้ศาสตร์เฉพาะ ช้างเป็นสัตว์บกที่มีลำตัวขนาดใหญ่และสามารถฟังภาษามนุษย์และปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดีถ้าได้รับการฝึก เวลาที่อยู่ในป่าจะอยู่รวมกันเป็นโขลง มีหัวหน้าโขลงควบคุม ช้างเพศผู้เรียกว่าช้างพลาย ช้างเพศเมียเรียกว่าช้างพัง การจับช้างป่ามาฝึกเพื่อใช้งานเรียกว่า การคล้องช้าง เมื่อจับช้างได้แล้วหมอช้างจะทำพิธีไล่ผีป่าออกจากช้างและเมื่อนำช้างมาถึงบ้านก็จะทำพิธีสู่ขวัญช้างเพื่อความเป็นศิริมลคลแก่ช้างและเจ้าของ ก่อนที่จะนำช้างไปใช้งาน ต้องทำการฝึกให้เชื่องเสียก่อน สามารถฟังคำสั่งและปฏิบัติตามคำสั่งที่ควาญช้างสั่งได้ การฝึกช้างนี้ชาวบ้านเรียกว่า เอาช้างเข้าซอง ลูกช้างจึงเหมาะที่จะได้รับการฝึก เพราะฝึกง่าย เชื่อฟังคำสั่ง การสร้างซองเพื่อฝึกช้างต้องนำต้นไม้ขนาดใหญ่พอสมควรมาฝังดินคู่กันในแนวตั้ง สูงกว่าความสูงของช้างและห่างกันพอที่จะหนีบคอช้างไม่ให้หลุดเวลาที่ช้างดิ้นรนขณะฝึกด้านบนสุดของซองใช้โซ่ขันชะเนาะแน่นหนา จากนั้นควาญช้างหรือผู้ชำนาญในการฝึกช้างก็จะขึ้นขี่บนคอช้าง ใช้ตะขอหรือขอบังคับช้าง ตลอดจนใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกันระหว่างคนกับช้างโดยจะฝึกกันทุกวันจนกว่าช้างจะจำและปฏิบัติตามคำสั่งที่ควาญต้องการ ภาษาช้างหรือภาษาที่คนพูดกับช้างจะเป็นคำสั้นๆ เพื่อให้ช้างจำได้ง่าย สำหรับภาษาช้างที่ใช้กันอยู่ในแถบพื้นที่ของตำบลบ้านตึก ดินแดนเมืองด้งในอดีต มีดังนี้
คำสั่งของควาญช้าง
ความหมายในทางปฏิบัติ
ทาว การคู้เข่าหลังทั้งสองข้าง ต่ำ การคู้เข่าหน้าทั้งสองข้างและก้มหัวลง ทาวต่ำลง การคู้เข่าลงทั้งหมดทั้งสี่เท้าให้ติดดิน
ส่ง ยกขาหน้า สูง ยกขาหน้าข้างเดียวเพื่อให้คนเหยียบขึ้นขี่บนคอ จับมาๆ สั่งให้จับสิ่งของที่ตกหล่นส่งให้กับคนที่ขี่บนคอ
บน ๆ ให้ใช้งวงฟาดหรือกดสิ่งกีดขวางที่อยู่ข้างหน้าในระยะสูง สาวมา ใช้งวงดึงโซ่ที่ผูกขามากองรวมกัน
อย่า เป็นการสั่งห้ามไม่ให้ดื้อรั้นหรือทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ มานี่ ให้เดินเข้าใกล้ผู้สั่งหรือเดินตาม งัด ใช้งวงหรืองางัดท่อนไม้ให้กลิ้ง



ภูมิปัญญาสาขาศิลปกรรม ระบำศรีสัชนาลัย

เป็นระบำที่วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัยคิดประดิษฐ์ขึ้น โดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอันได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เจดีย์ราย วัดเจดีย์เจ็ดแถว ภาพแกะสลักบานประตูไม้ประดับวัดมหาธาตุ เมืองเชลียง ลวดลายปูนปั้นพระโพธิสัตว์ เป็นรูปนางอัปสรแสดงท่าร่ายรำประดับยอดซุ้ม ประตูวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์) ตุ๊กตาสังคโลกแบบต่าง ๆ ลักษณะท่าร่ายรำของระบำชุดนี้จะโน้มเอียงไปทางศิลปะการร่ายรำแบบเขมรหรือขอม เพราะตามหลักฐานทางโบราณคดีนั้นพบว่า ศิลปะสมัยศรีสัชนาลัยเป็นศิลปะที่นิยมแบบเขมร
เครื่องแต่งกายของระบำศรีสัชนาลัย ผู้แสดงจะสวมเสื้อแขนสั้นแนบเนื้อสีชมพู นุ่งผ้านุ่งสีม่วงตัดเย็บให้แหวกได้ตรงกลางโดยสอดซับพลีทสีชมพูอ่อนไว้ด้านใน ตัวผ้านุ่งด้านหน้าจับจีบพับเป็นหลาย ๆ ชั้น โดยใช้สีด้านในผ้านุ่งเป็นสีทอง รัดเอวเพื่อเน้นทรวดทรง ใส่ห้อยหน้าปักลวดลายแบบสุโขทัย สวมกรองคอ พาหุรัด ทองพระกรและต่างหูเป็นเกลียวยาว ศีรษะสวมชฎาหรือเทริด ยอดชฎาทำเป็นรูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำตามแบบเจดีย์วัดช้างล้อมกลางเมืองศรีสัชนาลัย
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบด้วย กระจับปี่ ซอสามสาย ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน ฉิ่ง กรับ และโหม่ง ทำนองเพลงประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยอาจารย์บัณฑิต ศรีบัว อาจารย์ประจำหมวดวิชาเครื่องสายไทย ภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย เป็นเพลงอัตรา 2 ชั้น และชั้นเดียวตามแบบเพลงระบำทั่วไป ลีลาเพลงมีลักษณะนุ่มนวลอ่อนโยนและเยือกเย็น




ภูมิปัญญาไทยสาขาการแพทย์แผนไทย
สมุนไพรไทย
"สมุนไพร ไทยนี้ มีค่ามาก พระเจ้าอยู่หัว ทรงฝาก ให้รักษา แต่ปู่ย่า ตายาย ใช้กันมา ควรลูกหลาน รู้รักษา ใช้สืบไป
เป็นเอกลักษณ์ ของชาติ ควรศึกษา วิจัยยา ประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมัย รู้ประโยชน์ รู้คุณโทษ สมุนไพร เพื่อคนไทย อยู่รอด ตลอดกาล "
จังหวัดสุโขทัยมีหมอพื้นบ้านที่มีความรู้เรื่องการรักษาโรคด้วยสมุนไพรหลายท่าน เช่น นายณรงค์ มาคง นายสุข พลาวงศ์ นายโดย เณรเอี่ยม นายบุญธรรม พัฒนเจริญ พระครูสังฆรักษ์สน ปิยสีโล เจ้าอาวาสวัดวังตะคร้อ ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านด่านลายหอย ฯลฯ ที่จังหวัดสุโขทัยมีการปลูกสมุนไพร ณ ที่ต่างๆ กัน เช่น
สวนป่าสมุนไพร วัดวังตะคร้อ บ้านหนองจิกกรี ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านด่านลายหอย เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2537 โดยการนำของพระครูสังฆรักษ์สน ปิยสีโล เป็นโครงการปลูกสมุนไพรเพื่อการศึกษามีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีพืชสมุนไพรกว่า 600 ชนิด ใช้เป็นที่ศึกษาดูงานของชมรมแพทย์แผนไทยสวรรคโลก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบส่งโรงพยาบาลสวรรคโลก และเป็นที่ศึกษาดูงานแก่บุคคลที่สนใจทั่วไป
บ้านสมุนไพร ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านด่านลานหอย จำนวน 40 บ้านโดยทางวัดวังตะคร้อได้ขยายการผลิตวัตถุดิบไปยังชุมชนใกล้เคียง โดยการปลูกสมุนไพรบ้านละ 3 ชนิด เช่น ลูกยอ บอระเพ็ด เพชรสังฆาต กระเพราขาว ฟ้าทะลายโจร กระชาย ไพร ทำให้ชาวบ้านมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
อุทยานแห่งชาติรามคำแหง อำเภอคีรีมาศ ในพื้นที่อุทยานมีสวนลุมพินีวันปลูกว่านและสมุนไพรหลายร้อยชนิดให้ศึกษา เช่น หอมไกลดง นางคุ้ม อบเชย หนุมานประสานกาย หนุมานนั่งแท่น สบู่เลือด เพชรหน้าทั่ง เสน่ห์จันทน์ รางจืด กระวาน กำลังเสือโคร่ง เลือดค้างคาว ฯลฯ
โครงการสมุนไพรครบวงจร หมู่ 4 ปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย